ในสมัยพุทธกาล บุคคลผู้มีศรัทธาปรารถนาที่จะบวช ก็ไปเที่ยวหาซื้อบาตร จีวร และบริขารของพระภิกษุจากตลาด เมื่อบวชแล้วในเวลาต่อมาผ้าไตรจีวรเก่าขาดลง พระภิกษุทั้งหลายก็ไปเที่ยวหาเก็บเศษผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามถนนหนทางบ้าง ตามกองขยะบ้าง ตามป่าช้าบ้าง มาปะมาซ่อมแซมตามอย่างนักพรตนักบวชในอดีต ทั้งชาวบ้านผู้มีศรัทธายังไม่กล้าถวายผ้าไตรจีวรแก่พระภิกษุสงฆ์ เพราะเกรงว่าจะผิดวินัยสงฆ์ แม้พระพุทธเจ้าก็ยังไม่ได้บัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์รับคฤหบดีจีวรได้

     ต่อมา หมอชีวกะ โกมารภัจจะ ซึ่งเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ กราบทูลขอพรพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคและพระสงฆ์ทรงถือผ้าบังสุกุลเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ผ้า สิไวยะกะ คู่นี้เลิศกว่าผ้าอื่นๆหลายพัน หลายหมื่น หลายแสนคู่ นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันต์สัมมาพุทธเจ้า หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมราชาแล้ว ไม่มีใครอื่นที่ควรใช้ผ้าคู่นี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงกรุณาโปรดรับ และขอพระองค์จงทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับคฤหบดีจีวรได้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระองค์ก็ทรงรับและอนุโมทนา
     ตั้งแต่บัดนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงมีพุทธานุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคฤหบดีจีวร รูปใดปรารถนาจะใช้ผ้าบังสุกุลอยู่ก็จงใช้ รูปใดปรารถนาจะใช้คฤหบดีจีวรก็จงใช้ตามปรารถนา แต่เราสรรเสริญการยินดีปัจจัยตามมีตามได้”
     ประชาชนชาวนครราชคฤห์ ได้ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตคฤหบดีจีวร ต่างพากันยินดีร่าเริงว่า “บัดนี้แหละหนา พวกเราจะได้ถวายทาน จะได้ทำบุญ....” เพียงวันเดียวเท่านั้น จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นแก่สังฆมณฑลในพระนครราชคฤห์ ประชาชนชาวชนบทได้ทราบข่าว ต่างก็พากันยินดีร่าเริงว่า “บัดนี้แหละหนา พวกเราจะได้ถวายทาน จะได้ทำบุญ....” เพียงวันเดียวเท่านั้น จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นแก่สังฆมณฑลในชนบท

       ส่วนพระภิกษุผู้ถือธุดงค์วัตร ท่านใช้แต่ผ้าบังสุกุล คือเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยตามกองขยะบ้าง ตามถนนหนทางบ้าง หรือผ้าห่อศพตามป่าช้าบ้าง ท่านเก็บมาซักแล้วนำมาเย็บต่อๆกันให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ แล้วย้อมด้วยยางไม้ทำเป็นผ้าไตรจีวร อันมีสีเศร้าหมองควรแก่สมณะผู้แสวงหาความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อความสวยงามที่ทำให้กิเลสเฟื่องฟู พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่าผ้าที่เก็บมานี้ จะต้องเย็บเป็นผ้านุ่งผ้าห่มให้เสร็จภายใน ๑ เดือน ส่วนเศษผ้าที่เหลือห้ามเก็บสะสมไว้ ท่านจะใช้ผ้านุ่งผ้าห่มอย่างนี้ โดยไม่รับผ้าจากผู้ที่นำมาถวาย
   ดังนั้นผู้ที่มีศรัทธา ต้องการที่จะให้ท่านได้ใช้ผ้าที่เรานำมาถวายบ้าง จะเป็นไปเพื่อบุญ เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ตน เขาจึงนำผ้าชิ้นเล็กบ้างใหญ่บ้าง หรือผ้าไตรจีวรสำเร็จบ้าง ไปวางไว้ในป่าหรือตามทางเดินที่ท่านจะเดินมาพบเห็นได้ เมื่อวางไว้แล้วก็หนีไปเสีย เพราะถ้ายังเฝ้าอยู่ท่านจะไม่เอา เพราะเหตุที่ชาวบ้านเอาผ้าไปวางไว้ตามป่า จึงเรียกว่า “ผ้าป่า”
   เมื่อพระภิกษุรูปนั้น ผ่านมาพบเข้า เห็นไม่มีเจ้าของ ท่านก็จะหยิบเอาโดยกล่าวคำว่า “อิมัง ปังสุกุละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุนาติ” แปลว่า “ผ้าบังสุกุลอันไม่มีเจ้าของนี้เป็นของข้าพเจ้า” การทอด (วาง) ผ้าป่านี้ ไม่มีกำหนดวันหรือเดือน จะทอดเมื่อไรก็ได้
    พิธีทอดผ้าป่า มีข้อสำคัญอยู่ว่าให้อุทิศเป็นผ้าป่าจริง ๆ อย่าเจาะจงถวายแก่ผู้ใดโดยเฉพาะ ถ้าทอดลับหลังพระภิกษุสงฆ์ผู้รับ เพียงแต่ตั้งใจขณะทอดว่า ขออุทิศผ้าและเครื่องบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุผู้ต้องการผ้าบังสุกุลมาถึงเฉพาะหน้า เท่านี้ก็ถือว่าได้ทอดและถวายผ้าป่าแล้ว

   

ถ้าเป็นการทอดผ้าป่าหมู่ต่อหน้าสงฆ์ผู้รับ พึงกล่าวคำอุทิศถวายทั้งบาลีและคำแปล ดังนี้

คำถวายผ้าป่า
         อิมานิ มะยัง ภันเต ปังสุกุละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปังสุกุละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ฑีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล

        ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวาร เหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญฯ


      ในปัจจุบันนี้ ได้นำคำว่า “ผ้าป่า” มาเป็นกิจกรรมหาเงินเข้าวัด เพื่อนำไปใช้ใน พุทธศาสนกิจ ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน เช่น นำไปสร้างโบสถ์ วิหาร หรือบูรณะซ่อมแซมวัด พิธีการทอดผ้าป่าเกิดจากชาวบ้าน ผู้มีจิตศรัทธาชักชวน กันมาทำบุญ โดยนำกิ่งไม้พร้อมใบมาปักลงในถังข้าวสาร มีผ้าอาบน้ำ หรือผ้าไตรจีวร พาดไว้ที่กิ่งไม้ และของใช้อื่นๆที่จำเป็นต่อพระภิกษุก็นำมาแขวนไว้ตามกิ่งไม้นั้น มีเงินเสียบไม้ปักรวมๆกันหรือจัดเป็นพุ่ม แล้วนำไปถวายสังฆทานโดยมีพระภิกษุตั้งแต่ ๑ รูปขึ้นไป เป็นผู้รับสังฆทาน
      คำว่า “ผ้าป่า” หรือ “กฐิน” พระบรมศาสดาทรงบัญญัติให้ใช้ในกิจการของสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ควรนำวิธีการนี้หรือคำเหล่านี้ไปใช้ภายนอกพระพุทธศาสนา เช่น ผ้าป่าช่วยเด็กยากจน ผ้าป่าสร้างโรงเรียน ผ้าป่าช่วยชาติ ฯลฯ. เพราะผิดวัตถุประสงค์และผิดความหมายตามพุทธบัญญัติ ควรนำคำอื่นมาใช้แทนคำว่า “ผ้าป่า” หรือ “กฐิน” โดยไม่ต้องทำพิธีสงฆ์ จะถูกต้องและเหมาะสมกว่า





หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม l ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003  Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net