เพื่อเป็นอนุสรณ์เครื่องระลึกถึง และให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า
ได้รู้ในสิ่งที่น่ารู้ในการดำเนินชีวิต
ฉัน พระเกษตร ปคุโณ จึงเขียนประวัติไว้ดังนี้
 
     
 
        
 
 

               ฉันเกิดวันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่ตำบลบ้านพุทราอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา คุณพ่อชื่อแดง คุณแม่ชื่อกองทรัพย์ ธงพุทธรักษ์ มีพี่สาว ๑ คนและมีพี่ชาย ๑ คน เมื่ออายุประมาณ ๒ ขวบ ครอบครัวย้ายไปอยู่หลังวัดสุธจินดา อำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมา พ่อเป็นครูใหญ่โรง-เรียนประถม คุณแม่ขายของ

 

เล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ที่บ้าน ต่อมาท่านป่วยจึงหยุดขาย

 

 
 
 

           สมัยที่ยังเป็นเด็กเล็กสัก ๓-๔ ขวบ มีสามีภรรยาคู่หนึ่งเป็นญาติมาอาศัยอยู่ในบ้านด้วย ต่อมาผู้เป็นภรรยาคลอดลูก เห็นการคลอดแล้วอ่อนใจ ต้องเตรียมการมาก ใช้อุปกรณ์มาก เป็นสิ่งที่น่ากลัว มีความเจ็บปวด มีอันตราย อวัยวะฉีกขาด คลอดครั้งหนึ่งสังขารของผู้เป็นแม่ก็ร่วงโรยไประดับหนึ่ง คลอดหลายครั้งก็ร่วงโรยไปหลายระดับ ดูผู้เป็นแม่ผู้เป็นพ่อยินดีเหลือเกินคิดบ้างไหมว่า ความยุ่งยาก ความเหน็ดเหนื่อย ความทุกข์ ความไม่สงบ ค่าใช้จ่ายอีกมากมายนักเข้าแถว รออยู่ข้างหน้าแล้ว

             เมื่อคลอดเขาออกมาแล้ว เลี้ยงดูเขาจนเติบโตแล้วไม่ทราบว่าเขาจะดีต่อเราไหม เขาจะเชื่อฟังเราไหม เขาจะซื่อสัตย์ต่อเราไหม นี่หรือที่ใคร ๆ เขาต้องการกันนัก ! ตั้งแต่วันนั้นมาฉันเข้าใกล้เด็กทารกและแม่ลูกอ่อนจะได้กลิ่นเหม็นรุนแรง แม้เข้าใกล้เด็กทารกและแม่ลูกอ่อนอื่น ๆ ก็เช่นกัน เห็นการร้องไห้โยเย การอ้อนกวน การทำสกปรก ความซุกซนsของเด็ก ๆ แล้วรู้สึกเป็นความยุ่งยากเหน็ดเหนื่อยวุ่นวายไม่จบไม่สิ้นจึงไม่ชอบเด็ก

         
              เมื่ออายุ ๘ ขวบเข้าโรงเรียนประถมที่โรงเรียนวัดสระแก้วซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก เมื่ออายุได้สัก ๙ ขวบ พี่ชายก็โตเป็นเด็กวัยรุ่น พี่ชายเป็นนักเลงทุกชนิด ไม่พูดคำว่า " แม่ " พี่ชายมักไปเที่ยวกลับมาดึก ๆ เป็นประจำ เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ทุบประตูเสียงดัง ปัง ๆ ! แล้วตะโกนว่า " เปิดประตู ! เปิดประตู !" แม่ก็ลุกขึ้นมาเปิดให้บ่อยๆ มีอยู่คืนหนึ่งพี่ชายกลับจากไปเที่ยวมากลางดึกแล้วก็ทุบประตูเสียงดัง ปัง ๆ ! และตะโกนเหมือนเดิม คืนนั้น แม่ลุกขึ้นไปเปิดประตูให้ แล้วเอาไม้เรียวเฆี่ยนพี่ชายแล้วพูดว่า " มึงจะเรียกกูว่า แม่สักคำไม่ได้หรือไง ? " ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้พี่ชายดีขึ้น
        
             ขณะนั้นฉันเป็นเด็กเล็กนอนฟังอยู่ ไม่นึกเกลียดชังพี่ชายเลยสักนิดเดียว คิดว่าการมีลูกเป็นอย่างนี้เองนะหรือต่อไปถ้าเรามีลูกแล้วลูกของเราเป็นอย่างนี้เราจะทำอย่างไรคิดต่อไปว่า เป็นธรรมดาของคน ทั่ว ๆ ไปเขาก็เป็นอย่างนี้ ตั้งแต่ไหนแต่ไรลูก ๆ ทุกคนไม่เคยพูดคำไพเราะ เช่น ครับ, ผม,คะ,ขา,หนู, ดิฉัน กับพ่อแม่เลย ไม่เคยมีใครไหว้กราบพ่อแม่เลย ทีกับผู้อื่นพูดคำไพเราะกับเขาได้ไหว้กราบเขาได้ แต่ทีกับพ่อแม่ไม่ได้ ยังไง ยังไง ก็ไม่ได้! แม้เด็กเล็กเด็กโตในละแวกนั้นก็เช่นกัน

              ผู้ดีพร้อมต่อพ่อแม่นั้นหายาก โอชีวิตครอบครัวนี้เศร้าหมอง! ชีวิตของผู้ครองเรือนนี้น่าอดสู! นี่หรือที่ใคร ๆ เขาอยากมีกันนัก โอ้อวดกันนัก ทำไมถึงทนได้ แต่ลูก ๆ ทุกคนในครอบครัวของฉันยังดีอยู่บ้างที่ทุกคนไม่ขึ้นเสียงกับพ่อแม่ ไม่เถียงพ่อแม่ ไม่พูดแดกดันกับพ่อแม่ และ ทุกคนไม่มีสันดานพูดคำหยาบคาย ในครั้งนั้นฉันคิดต่อไปว่า " ต่อไปถ้าเรามีลูก ลูกของเราก็คงไม่พูดคำไพเราะกับเรา ไม่ไหว้ไม่กราบเราเหมือนที่เขาเป็นกัน " จึงเกิดความกลัวการมีลูกแต่นั้นมา

   
   
 

             ชาวบ้านในละแวกนั้นใครๆจะไปตลาดหรือไปไหนๆ จะเดินหรือขี่จักรยานก็ ต้องผ่านกลางวัด คือเข้าประตูหลังวัดและออกประตูหน้าวัด จะใช้น้ำก็ต้องหาบน้ำจาก สระน้ำในวัด  ไม่มีน้ำดื่มก็ไปขอน้ำฝนจากแทงค์ใหญ่ในวัดชาวบ้านรวมทั้งครอบครัว ของฉันด้วยจะไปตักไปหาบกันเป็นทิวแถวทุกวันแต่ใคร ๆ ไม่เห็นความสำคัญของวัด
             
             บ้านของฉันอยู่ใกล้วัดก็จริง แต่พ่อแม่ของฉันมีศรัทธาน้อยในพระพุทธศาสนา เท่าที่จำความได้ที่บ้านเคยตักบาตรพระนับครั้งได้ เมื่อใส่บาตรก็ใส่แต่ข้าวเปล่าๆ พระ ภิกษุสามเณรก็เดินบิณฑบาตผ่านบ้านทุกวัน พ่อแม่เคยพาไปทำบุญที่วัดเพียงครั้งหนึ่ง หรือสองครั้งเท่านั้นไปเฉพาะเทศกาลสำคัญๆ  เท่านั้นเมื่อไปแล้วก็นั่งอยู่ท้ายเพื่อนสุด ฉันไม่เคยเห็นพ่อแม่พูดคุยกับพระภิกษุสงฆ์อย่างสนิทสนมเลย

   
 
 

             ไม่ไกลจากบ้านเท่าไรนัก ตรงข้ามกับวัดเป็นศาลากลางจังหวัด มีลานกว้างใหญ่เป็นสนามกีฬาไปในตัวด้วย มักจะมีการแข่งขันฟุตบอลเป็นประจำ สนามมวย, สนามม้า, ตลาด,โรงภาพยนตร์ก็อยู่ไม่ไกลล้วนสามารถเดินไปถึงได้ไม่นาน สนามกีฬาเหล่านี้เมื่อมีการแข่งขันจะได้ยินเสียงคนเชียร์ดังลั่นถึงบ้าน ตั้งแต่จำความได้เป็นต้นมาไม่ชอบดูการแข่งขันกีฬาโดยเฉพาะกีฬาที่มีความโหดร้ายทารุณ เช่น มวย, ตีไก่, กัดปลา, เอาสัตว์มาต่อสู้กัน, เอาสัตว์มาเฆี่ยนตี, เอามาทรมานยิ่งไม่ชอบเห็นแล้วสลดใจ, สงสาร, ดูไม่ได้. เพื่อนเคยพาไปดูมวย, ไปดูแข่งม้า, ไปดูแข่งฟุตบอล ฯลฯ ขณะที่นั่งดูจะเกิดความรำคาญ, น่าเบื่อ, ดูไม่รู้เรื่อง.เสียงเชียร์ดัง เฮ ๆ จะรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงร้องโหยหวนของพวกสัตว์นรก การพนันทุกชนิดก็ไม่ชอบ เมื่อยังเป็นเด็กเล็กมีความคิดว่า ทำไมคนในโลกจึงต้องแบ่งเป็นชาติต่าง ๆ เป็นประเทศต่าง ๆ มีชุดแต่งกายประจำชาติต่างกัน พูดภาษาต่างกัน ทำไมไม่เป็นอย่างเดียวกันเสียให้หมด

   
 
 

             แม่ป่วยเป็นวัณโรคมานาน มีอาการไอจนพูดไม่มีเสียง เวลาจะเรียกใช้ใครก็เคาะด้วยกระป๋องยาเส้นที่ท่านใช้หนุนศีรษะนอนเป็นประจำ ฉันอายุราว ๙ ขวบ แม่ได้สิ้นใจอย่างสงบในเวลากลางคืนจนรุ่งเช้าพ่อมาบอกว่า " แม่ตายแล้ว? " เมื่อแม่ตายพี่ ๆ ทุกคนซึ่งก็โตแล้วไม่เห็นมีใครไหว้กราบศพแม่และไม่มีใครแสดงความเสียอกเสียใจร้องไห้แม้ตัวฉันเองก็เช่นกันขณะที่อยู่ใกล้ๆ ศพแม่นั้นมีคนถามฉันว่า " เสียใจไหม " ฉันไม่พูดแต่ในใจรู้สึกเฉย ๆ ขณะเดียวกันก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า " นี่แม่เราตาย " เราและใคร ๆ ไม่ไหว้ไม่กราบศพท่าน ไม่มีใครแสดงความเสียอกเสียใจอาลัยถึงท่านต่อไปถ้าเรามีลูก เมื่อเราตายเขาคงไม่ไหว้ไม่กราบศพเราไม่เสียอกเสียใจอาลัยถึงเราเหมือนที่พวกเราเป็นแน่ โอชีวิตครอบครัวนี้เศร้าหมอง! ชีวิตของผู้ครองเรือนนี้น่าอดสู! จึงเกิดความกลัวต่อการมีลูกมีเมียยิ่งขึ้นอีกทั้งๆ ที่คิดได้อย่างนี้แต่ก็ปฏิบัติตนให้ดีขึ้นไม่ได้เพราะไม่เคยเห็นตัวอย่างที่ดีและไม่มีใครแนะนำ

            หลังจากแม่ตายแล้วไม่นานครั้งนั้นพี่สาวไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ค่ำวันหนึ่ง พ่อ พี่ชาย และฉันจุดตะเกียงที่ทำด้วยกระป๋องนมนั่งคุยกันอยู่บนเรือนซึ่งมีเสายกสูงใต้ถุนเรือนโล่ง สักครู่หนึ่งได้ยินเสียงเคาะด้วยกระป๋องที่แม่เคยใช้เคาะเรียก เสียงเคาะดังอยู่ที่ใต้ถุน เมื่อได้ยินเสียงรู้สึกคุ้นๆ ทุกคนลงไปดูที่ใต้ถุนก็ไม่เห็นมีอะไร ทุกคนไม่มีอาการตื่นกลัวมีอารมณ์เป็นปกติกลับขึ้นเรือนแล้วไม่พูดอะไรอีก ฉันคิดว่า " แม่คงมาหาเรา " หลายวันต่อมาพ่อพูดให้ฟังว่า " ฝันเห็นแม่ " แม่นั่งหันหลังให้แต่สังเกตดูเห็นแม่มีหน้าเป็นสุนัข ฉันมาคิดทีหลังว่า " แม่คงทำบุญไว้น้อย

 
          
หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ภาพกิจกรรมวัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม l ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003  Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net