การทอดกฐิน   เป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชนที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยพุทธกาล ประเพณีการทอดกฐินนิยมทำกันนับตั้งแต่วันออกพรรษาแล้ว คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมเพียง ๑ เดือน

     กฐิน (ภาษาบาลีอ่านว่า กะฐินะ) แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อการตัดเย็บจีวร หรือผ้านุ่งผ้าห่มของพระภิกษุ ในสมัยพุทธกาลบางท้องที่พระภิกษุสามเณรหาผ้านุ่งผ้าห่มได้ยาก พระภิกษุบางรูปมีผ้านุ่งผ้าห่มเก่าขาดยังหาใหม่ไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงให้พระภิกษุทั้งหลายช่วยกันหาผ้า เช่น เศษผ้าหรือท่อนผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะบ้าง ตามถนนหนทางบ้าง ตามป่าช้าบ้าง นำมาซักแล้วตัดเย็บเป็นจีวรหรือผ้านุ่งผ้าห่ม ให้ได้ขนาดพอดีแล้วจึงนำไปย้อมด้วยยางไม้ให้เป็นสีคล้ายสีของเปลือกไม้ อันเป็นสีที่เหมาะสมแก่สมณะ จากนั้นให้มีการประชุมสงฆ์ในวัดอย่างน้อย ๕ รูปขึ้นไป แล้วทำพิธีมอบถวายให้แก่พระภิกษุผู้ที่มีผ้านุ่งผ้าห่มเก่าขาดรูปนั้น

         ปฐมเหตุ ของประเพณีการทอดกฐินเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล มีดังต่อไปนี้:-

         สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระภิกษุชาวปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ บิณฑปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์เดินทางไปพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษา แต่ไม่สามารถที่จะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถีได้ จึงจำพรรษา ณ.เมืองสาเกต ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้วจึงออกเดินทางต่อเพื่อไปเฝ้าพระบรมศาสดา ณ.พระเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี เมื่อฝนยังตกชุกพื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำจึงเป็นหล่มเลน พระภิกษุเหล่านั้นมีจีวรที่เก่าคร่ำคร่าเปียกชื้นด้วยน้ำฝนและเปื้อนโคลน เดินทางไปจนถึงพระนครสาวัตถีด้วยความลำบาก พระพุทธเจ้าจึงทรงถือเอาเหตุการณ์นี้เป็นมูลเหตุ ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุที่จำพรรษาครบสามเดือนกรานกฐินได้ และให้ได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ:-
  ๑. เที่ยวไปได้โดยไม่ต้องบอกลา
๒. จาริกไปโดยไม่ต้องเอาผ้าไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันอาหารเป็นหมู่คณะได้
๔. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
๕. จีวรอันเกิดในกฐินกาลเป็นของเธอ
อานิสงส์นี้อยู่ในช่วงเวลา ๑ เดือน โดยนับตั้งแต่วันออกพรรษาแล้วเท่านั้น
                              พระวินัยปิฎกฉบับอรรถกถา กฐินขันธกะ เล่มที่ ๕ หน้า ๑๙๓
 

       ในปัจจุบันนี้ พิธีทอดกฐินส่วนใหญ่เป็นการหาเงินเข้าวัด โดยมีผ้าไตรสำรับหนึ่งเป็นหลักเพื่อใช้ในพิธีการ ส่วนเงินที่ได้ก็จะนำไปใช้ทะนุบำรุงในกิจการพระพุทธศาสนา เช่น สร้างโบสถ์ วิหาร ฯลฯ. ซึ่งก็เป็นอานิสงส์เป็นบุญกุศลแก่ผู้มาร่วมงาน
     แต่พิธีกฐินนี้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ใช้ในกิจของสงฆ์เท่านั้น จะใช้ในกิจภายนอกพระพุทธศาสนา เช่น กฐินช่วยเด็กยากจน กฐินสร้างโรงเรียน กฐินใช้หนี้ครู กฐินช่วยใช้หนี้ชาวไร่ชาวนา หรือกฐินช่วยชาติไม่ได้ เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์ เพราะทายกทายิกามีความประสงค์ที่จะถวาย แก่สงฆ์ผู้ทรงศีลในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

 
 
คำถวายผ้ากฐิน
         อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะจีวะระทุสสัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง ปะฏิคคัณหาตุ ปะฏิคคะเหตฺวา จะ อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล
           ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน กับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย รับแล้วจงกรานกฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญฯ





หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม l ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003  Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net