“ไซอิ๋ว”   เป็นวรรณกรรมจีนที่คนไทยรู้จักดีพอๆ  กับเรื่อง  “สามก๊ก” แต่ที่เป็นข้อพิเศษแตกต่างกันไปจาก “สามก๊ก”  ก็คือ  “ไซอิ๋ว”  เป็นวรรณกรรมที่มีมิติของเนื้อหาอยู่  ๒ มิติ คือ
 
มิติแรก   เป็นวรรณกรรมที่ให้ความสนุกสนาน   เพลิดเพลินเหมือนกับวรรณกรรมทั่วๆไป ในมิตินี้ เราจะพบกับการผจญภัยของพระถังซัมจั๋ง  เห้งเจีย โป้ยก่าย  และซัวเจ๋ง  เป็นต้น
 
มิติที่สอง เป็นวรรณกรรมศาสนา ที่แต่ละตัวละคร ต่างเป็นสัญลักษณ์ทางธรรม ของพระพุทธศาสนา  เช่น  เห้งเจีย เป็นสัญลักษณ์ของ ปัญญา   โป้ยก่าย เป็นสัญลักษณ์ของ ศีล  และ  ซัวเจ๋ง  เป็นสัญลักษณ์ของ  สมาธิ   เป็นต้น
โดยทั้ง ปัญญา ศีล และสมาธิ นี้ยังไม่สมบูรณ์เพราะยังมี ราคะ โทสะ และโลภะ ดำรงอยู่ ยังต้องผ่านการทดสอบในโลกียะจนกว่าจะบรรลุถึง สัจธรรม
และสิ่งที่มาทดสอบนั้นก็มิอะไรอื่น หากคือบรรดาปีศาจต่างๆ ที่ตัวละครเหล่านี้ต้องผจญภัย นอกจากนี้ ในหลายกรณีที่บรรดาสิงสาราสัตว์ แม่น้ำลำธาร ขุนเขา ป่าไม้ อาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ ก็เป็นสัญลักษณ์อยู่ด้วย


 
 
 จะเห็นได้ว่า ในมิติที่สองนี้ มีความลึกล้ำซับซ้อน ต่อการทำความเข้าใจไม่น้อย และเป็นวิธีที่เข้าสู่สัจธรรมในแบบ มหายาน อันเป็นนิกายพื้นฐานของศาสนาพุทธในจีน
 
ดังนั้นในมิตินี้ จึงอาจจะไม่ให้ความสนุกสนานอะไรแก่ผู้อ่านเท่ากับมิติแรก แต่ในขณะเดียวกัน ความสนุกสนาน  ที่ได้จากมิติแรก  ก็ใช่ว่าจะเป็นพิษเป็นภัย  เพราะอย่างน้อยก็ยังคงเป็นวรรณกรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว
 
 แม้ไซอิ๋วจะมีฐานะวรรณกรรมเช่นนั้น   และเป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง
(Ming Dynasty, B.E.1368 – 1644) โดย อู่ เฉิง เอิน (Wu Cheng-en, B.E.1500 – 1582) ก็ตาม แต่ไซอิ๋วจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากในโลกแห่งความเป็นจริงเมื่อสมัยราชวงศ์ถัง (Tang Dynasty, B.E.618 – 907) ไม่มีพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมีสมณฉายาว่า “เสวียนจั้ง” (Xuan-zang, B.E.569 – 664) หรือ “ซานฉางฝ่าซือ” (San-cang-fa-shi) เกิดขึ้น
 
ซานฉางฝ่าซือ ที่พอถอดเป็นภาษาไทยได้ว่า “พระธรรมาจารย์ไตรปิฎก” อันเป็นคนเดียวกับ “พระถังซัมจั๋ง”

        พระถังซัมจั๋ง มีชีวิตอยู่ในสมัยจักรพรรดิ ไท่จง (Taizong, B.E.626 – 649) ด้วยความศรัทธาของพระถังซัมจั๋ง และการเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของจักรพรรดิไท่จง พระถังซัมจั๋งจึงได้เดินทางไปยัง “ชมพูทวีป” เพื่อศึกษาพระไตรปิฎก และนำพระไตรปิฎกกลับมายังจีนเพื่อทำการแปล
 
 
ซึ่งนับแต่ปีที่ออกเดินทางไป จนกระทั่งกลับมายังจีนอีกครั้งหนึ่งนั้น  ปรากฎว่า พระถังซัมจั๋ง ได้ใช้เวลานานถึง ๑๖ ปี (B.E.629 – 647)และคงเป็นเพราะเหตุนี้เองจักรพรรดิไท่จง จึงทรงให้พระถังซัมจั๋งเขียนบันทึก  บอกเล่าเรื่องราว ที่ได้ไปพบเห็นมาระหว่างช่วงเวลานั้นถวายต่อพระองค์ เรื่องราวที่พระถังซัมจั๋งเขียนขึ้นมีชื่อว่า “ต้าถัง ซี-ยวี่-จี้” (Da Tang-xi-yu-ji) หรือ “จดหมายเหตุดินแดนตะวันตกแห่งมหาราชวงศ์ถัง”

 

โดยดินแดนตะวันตกในที่นี้ก็คือ  “ชมพูทวีป”  เพราะเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศจีน  บันทึกฉบับนี้ได้ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์(โดยเฉพาะของประเทศอินเดีย) อย่างมากมาย
 
นอกจากบันทึกฉบับนี้แล้ว   ยังมีอีกฉบับหนึ่งที่ให้ประโยชน์ไม่แพ้กัน  คือ  “ต้าถังต้าฉือเอินซื่อ ซานฉางฝ่าซือ ฉวน” (Da-Tang-Daci-Ensi-Sancangfashi-Chaun)  ซึ่งพอแปลได้ว่า  “ประวัติพระมหาธรรมาจารย์ไตรปิฎก ณ. วัดการุณยาราม แห่งมหาราชวงศ์ถัง”
 
อันที่จริงแล้ว ทั้งก่อนและหลังการเกิดบันทึกทั้งสองฉบับนี้ขึ้นในจีน   ยังมีบันทึกอีกจำนวนหนึ่งที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชมพูทวีปเช่นกัน ผู้บันทึกมีทั้งบรรพชิต และ ฆราวาส ที่ได้เดินทางไป  และ เห็นดินแดนนี้มา ข้อมูลเหล่านี้ให้ประโยชน์แตกต่างกันไป  แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่มีฉบับไหน ที่ได้รับการขยายความ หรือพัฒนามาเป็นวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้มากเท่ากับบันทึกสองฉบับนั้น ซึ่งต่อมาถูกทำให้กลายเป็น “ไซอิ๋ว” ดังที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
  
 
ไซอิ๋ว ที่เป็นวรรณกรรมนั้นมีชื่อเต็มว่า “ซี โหยว จี้” (Xi-you-ji) แปลว่า “บันทึกตะวันตกสัญจร” ความเชื่อมโยง ที่เกี่ยวพันกับบันทึกทั้งสองฉบับข้างต้น  อยู่ตรงที่เรื่องราว ยังคงบอกเล่าถึงการเดินทาง ไปชมพูทวีป   เพื่อนำพระไตรปิฎก กลับมายังประเทศจีนประการหนึ่ง  และอยู่ตรงที่มีตัวละครที่ชื่อ “พระถังซัมจั๋ง” เหมือนๆกันอีกประการหนึ่ง
 
ผู้แต่งวรรณกรรมเรื่องนี้  เป็นผู้มีเจตนาดีต่อพระพุทธศาสนา  ทำประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะแต่งให้พระถังซัมจั๋ง ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากประเทศอินเดีย  มาเผยแพร่ในประเทศจีน แต่ผู้แต่งศึกษาเรื่ององพระพุทธศาสนายังไม่ตลอด  ยังไม่เข้าใจพระธรรมวินัยดีพอ  เป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ที่ยังมีกิเลส ย่อมมีข้อตำหนิ มีข้อผิดพลาดในการแต่งเนื้อเรื่องอยู่บ้าง ดังนี้:

๑. พระถังซำจั๋งมีบทบาทน้อยไป   ต้องมีผู้ช่วยมากมายราวกับว่าท่านไม่มีความสามารถ   ไม่มีคุณวิเศษ   ซึ่งพระภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ   ย่อมมีคุณวิเศษเอาตัวรอดได้โดยไม่ต้องมีผู้ช่วย
 
๒. พระถังซำจั๋งแต่งตัวหรูหรา ประดับประดามาก มีการสวมมงกุฎ  ถือคทา  ใส่ลูกประคำ  จีวรประดับประดางดงาม  ผิดสมณะสาระรูป เหมือนการแต่งตัวของนางคณิกา  เหมือนการแต่งตัวของพวกขุนนางผู้สูงศักดิ์   ไม่ใช่การนุ่งห่มของสมณะ  ผู้มักน้อยสันโดษ
 
๓. เห้งเจียซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง มีความทะลึ่งตึงตัง ไม่รู้จักที่สูงที่ต่ำ ไม่รู้จักเจียมตัว  จริงอยู่ที่เห้งเจียเป็นลิง  แต่ลิงพันธุ์ที่ไม่ทะลึ่งไม่ซุกซนก็มี อย่างน้อยเห้งเจียต้อง ได้รับการอบรมบ่มนิสัยจากพระถังซำจั๋งบ้าง เพราะเป็นลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด  คงเป็นเจตนาของผู้แต่งให้เรื่องมีความสนุกสนาน แต่จะเป็นตัวอย่างไม่ดีให้กับผู้อ่าน  
  
 
อีกอย่างหนึ่ง เห้งเจียมีฤทธิ์มาก  สามารถเหาะเหิรเดินอากาศ  ไปเที่ยวรุกรานเทวดาบนสวรรค์ มีฤทธิ์มากเช่นนี้ได้อย่างไร??
 
๔. มีตัวละครมากมาย  แต่ละคนส่งบท รับบทต่อๆกัน  ทำให้เรื่องราวสลับซับซ้อนและยืดเรื่องให้ยาว ผู้แต่งหวังความสนุกแบบโลกๆมากเกินไป
 
๕. เมื่อพระถังซำจั๋งและคณะนำพระไตรปิฎกมาจากอินเดียแล้ว  ทำตกทะเลเปียกน้ำหมด  ต้องนำขึ้นมาผึ่งตากแดด เมื่อแห้งแล้วกระดาษบางส่วนติดกันบ้าง  ติดกับพื้นหินที่วางตากบ้าง  ต้องลอกออกแคะออกทำให้เกิดการฉีกขาด  ตัวหนังสือเลอะเลือนเสียหาย จึงเกิดเป็นสำนวนว่า “พระไตรปิฎกผ่านเหตุการณ์มามากมายย่อมขาดตกบกพร่อง พระธรรมวินัยย่อมขาดตกบกพร่อง ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ที่สุด”
 
ตามความเป็นจริง รัตนะทั้งสามประกอบด้วย  พุทธรัตนะ  ธรรมะรัตนะ  และสังฆรัตนะ พระไตรปิฎกก็คือ  ธรรมะรัตนะ เป็นสิ่งวิเศษ เป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์ มีเทวดารักษาไม่ให้เสื่อมเสีย ผู้แต่งเรื่องนี้ไม่เข้าใจ ผู้แต่งๆให้เห้งเจียบ้าง เทวดาบ้าง ช่วยสิ่งอื่นๆให้แคล้วคลาดปลอดภัยได้ แต่กลับไม่ยอมช่วยพระไตรปิฎกซึ่งอุตส่าห์เดินทางไปอัญเชิญด้วยความยากลำบากให้พ้นภัย  และเมื่อผู้อ่านเชื่อคล้อยตามเนื้อเรื่อง ย่อมเกิดความกังขาในพระไตรปิฎก เกิดความกังขาในพระพุทธศาสนา ทำให้ชาวโลกเข้าใจพระพุทธศาสนาผิดไป ย่อมเป็นบาปแก่ผู้แต่งและผู้อ่านที่เชื่อตาม
 


 


หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม l ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003  Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net