อันตรธาร ๕  
อันตรธาร คือ การสูญสิ้น มี ๕ ประการคือ
 

              ๑. อธิคมอันตรธาน การบรรลุสูญสิ้น
              ๒. ปฏิบัติติอันตรธาน การปฏิบัติสูญสิ้น
              ๓. ปริยัตติอันตรธาน การศึกษาเล่าเรียนสูญสิ้น
              ๔. ลิงค์อันตรธาน เพศบรรพชิตสูญสิ้น
              ๕. ธาตุอันตรธาน พระบรมสารีริกธาตุสูญสิ้น

   


             ๑. อธิคมอันตรธาน  มรรค ๔ ผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ชื่อว่าอธิคม
              อธิคมเมื่อจะเสื่อม ย่อมไปตั้งแต่ปฏิสัมภิทา นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๑,๐๐๐ ปีเท่านั้น ภิกษุไม่สามารถทำปฏิสัมภิทา ให้เกิดได้ต่อไปก็อภิญญา ๖ แต่นั้นเมื่อไม่สามารถทำอภิญญาให้เกิดได้ย่อมทำวิชชา ๓ ให้เกิด ครั้นกาลล่วงไปๆ เมื่อไม่สามารถทำวิชชา ๓ ให้บังเกิด ก็เป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก ต่อไปก็เหลือเพียงพระอนาคามี, พระสกทาคามีและพระโสดาบันตามลำดับ เมื่อท่านเหล่านั้นยังทรงชีพอยู่ อธิคมชื่อว่ายังไม่เสื่อม เมื่อพระโสดาบันองค์สุดท้ายสิ้นชีพลง ย่อมได้ชื่อว่า อันตรธานแห่งอธิคม


             ๒.ปฏิปัตติอันตรธาน ภิกษุไม่สามารถจะให้ฌาน วิปัสสนา มรรค และผลบังเกิดได้ รักษาเพียงจตุปาริสุทธิศีลยังไม่ชื่อว่าปฏิบัติอันตรธาน เมื่อกาลล่วงไปๆ ภิกษุทั้งหลายคิดว่า เราจะรักษาศีลให้บริบูรณ์และจะประกอบความเพียรเนืองๆ แต่เราก็ไม่สามารถจะทำให้แจ้งในมรรคหรือผล บัดนี้ไม่มีการแทงตลอดในอริยธรรม จึงท้อใจมากไปด้วยความเกียจคร้าน ไม่ตักเตือนกันและกัน ไม่รังเกียจกันและกันในการทำความชั่วตั้งแต่นั้นก็พากันย่ำยีสิกขาบทเล็กน้อย เมื่อกาลล่วงไปๆ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถุลลัจจัย และ ครุกาบัติตามลำดับ เพียงอาบัติปราชิกเท่านั้นยังคงอยู่ ยังไม่ชื่อว่า ปฏิปัตติอันตรธาน เมื่อภิกษุรูปสุดท้ายทำลายศีลปราชิก หรือสิ้นชีวิตย่อมชื่อว่า ปฏิปัตติอันธาน

               ๓. ปริยัตติอันตรธาน พระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา (คำอธิบายพระไตรปิฎก) อันเป็นที่รวมแห่งพุทธพจน์ยังคงอยู่เพียงใด การเรียนการศึกษาก็ชื่อว่ายังบริบูรณ์อยู่เพียงนั้น เมื่อกาลล่วงไปๆ พระราชาและพระยุพราชในกุลียุคไม่ตั้งอยู่ในธรรม ราชอำมาตย์ก็ดี ข้าราชการทั้งหลายก็ดี สมณพราหมณ์ก็ดี คฤหบดี และเหล่าราษฎร์ทั้งหลายในแว่นแคว้นก็ดี ต่างก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อเป็นดังนั้นฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าและพืชพันธุ์ธัญญาหารก็ไม่บริบูรณ์ ทายกผู้ถวายปัจจัยก็ไม่สามารถถวายปัจจัยแก่ภิกษุสงฆ์ได้

                 ภิกษุสงฆ์เมื่อมีความเป็นอยู่ลำบากก็ไม่อาจสงเคราะห์ศิษย์ให้ศึกษาเล่าเรียนได้ แม้ภิกษุทั้งหลายก็มีความเห็นอันวิปลาสไป พระไตรปิฎก และอรรถกถา คือหลักฐานของพระธรรมวินัยนี้ เป็นคัมภีร์สำคัญรวมคำสอนของพระศาสดา มีความลึกซึ้ง ไพเราะ เป็นไปเพื่อความสูญสิ้นกิเลส เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์ แต่ภิกษุทั้งหลายจะไม่สนใจ ไม่ยินดีศึกษาเล่าเรียน ส่วนคัมภีร์หรือพระสูตรอันนักกวีรุ่นหลังแต่งขึ้น ซึ่งเป็นของภายนอกพระธรรมวินัย ไม่เป็นไปเพื่อความสูญสิ้นกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน ไม่เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์ ภิกษุทั้งหลายจะสนใจยินดีศึกษาเล่าเรียน

                 เมื่อกาลล่วงไปๆ ภิกษุทั้งหลายจะไม่ศึกษาเล่าเรียนอรรถกถาเมื่ออรรถกถาไม่มีผู้สนใจศึกษาเล่าเรียนก็จะหายสาปสูญไป ยังอยู่แต่พระไตรปิฎกเท่านั้น จากนั้นก็ไม่มีผู้ใดศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก โดยเริ่มจากอภิธรรมปิฎกก่อน เมื่อถึงความสูญสิ้นก็จะสูญสิ้นตั้งแต่ท้ายลงมาคือ มหาปกรณ์, ยมก, กถาวัตถุ, บุคคลบัญญัติ, ธาตุกถา และ ธัมสังคณี ตามลำดับ จากนั้นสุตตันตปิฎกก็ไม่มีผู้ใดศึกษาเล่าเรียน โดยเริ่มจากท้ายมา คือ อังคุตตรนิกาย, สังยุตตนิกาย มัชฌิมนิกาย และฑีฆนิกาย ตามลำดับ ยังคงอยู่แต่ชาดกต่อไปชาดกก็สูญสิ้น คงอยู่แต่วินัยปิฎกเท่านั้น จากนั้นก็ไม่มีผู้ใดศึกษาเล่าเรียนวินัยปิฎก โดยเริ่มจากท้ายมา คือ บริวาร, ขันธกะ, ภิกษุณีวิภังค์ และ ภิกษุวิภังค์ตามลำดับ

                 เมื่อไม่มีผู้ใดศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกดังนี้ ผู้ศรัทธาที่จะจดบันทึกและจัดทำพระไตรปิฎกเพื่อสืบต่อเพื่อเผยแพร่แก่ชนรุ่นหลังก็ไม่มี เล่มพระไตรปิฎกเก่าก็พากันปล่อยให้ชำรุดเสียหาย ไม่มีใครเอาใจใส่ดูแล ในที่สุดก็ถึงคราวสาปสูญไป ปริยัตติคือการศึกษาเล่าเรียนชื่อว่ายังไม่อันตรธาน เมื่อคาถา ๔ บาทอันเป็นพุทธพจน์ยังมีการพูดถึงอยู่ในหมู่มนุษย์ จะมีสมัยหนึ่ง พระราชาองค์หนึ่งผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทรงใส่ถุงทรัพย์หนึ่งแสนกหาปนะลงในหีบทองตั้งบนหลังช้างแล้วให้ตีกลองร้องประกาศไปทั่วแผ่นดินว่า "ชนผู้รู้คาถาแม้ ๔ บาทที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วจงมารับทรัพย์ หนึ่งแสนนี้ไป" ก็ไม่มีผู้ใดมารับเอาไป ก็การเที่ยวตีกลองประกาศคราวเดียว ย่อมมีผู้ได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง จึงให้เที่ยวตีกลองประกาศถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่มีผู้ใดรับเอาไป ราชบุรุษทั้งหลายจึงให้ขนถุงทรัพย์ หนึ่งแสนนั้นกลับสู่ท้องพระคลังตามเดิม ในกาลนั้นได้ชื่อว่า ปริยัตติอันตรธาน

              ๔. ลิงค์อันตรธาน เมื่อกาลล่วงไปๆ อิริยาบทต่างๆของภิกษุทั้งหลาย เช่น การทรงจีวร ทรงบาตร การคู้ การเหยียด การแล การยืน การเดิน การนั่ง การนอน จะไม่เป็นที่น่าเลื่อมใส จะพากันวางบาตรไว้บนบ่าบ้าง หาบด้วยสาแหรกบ้าง เที่ยวไปเหมือนพวกนิครนถ์ การนุ่งการห่มก็ไม่ทำให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติด้วยการใช้จีวรสีครามล้วน สีเหลืองล้วน สีแดงล้วน สีบานเย็นล้วน สีดำล้วน สีแสดล้วน สีชมพูล้วน จีวรที่ไม่ได้ตัดและเย็บให้เป็นกระทงจีวรที่ไม่ได้ตัดชาย จีวรที่มีชายยาว จีวรที่มีชายเป็นลายดอกไม้ จีวรที่มีชายเป็นแผ่น สวมเสื้อ สวมกางเกง สวมหมวก โพกผ้าเหมือนชาวบ้านผู้บริโภคกาม

                  ส่วนผ้ากาสายะคือผ้าย้อมฝาดหรอสีเหมือนยางไม้อันสมควรแก่สมณะภิกษุทั้งหลายจะไม่ใช้ เมื่อกาลล่วงไป ๆ ก็คิดว่า " พวกเราจะต้องการอะไรด้วยการทำอย่างนี้ " จึงผูกผ้ากาสายะผืนเล็ก ๆ ไว้ที่ข้อมือบ้าง พันคอไว้บ้าง ผูกผมไว้บ้าง และประกอบอาชีพด้วยการไถหว่านบ้าง ค้าขายบ้าง เลี้ยงบุตรภรรยา ในกาลนั้นชนทั้งหลายเมื่อจะถวายสังฆทานย่อมถวายแก่บุคคลพวกนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า "ในอนาคตกาล จะมี โคตรภูบุคคล (บุคคลผู้อยู่ระหว่างปุถุชนกับอริยะบุคคล) ผู้มีผ้ากาสายะพันคอเป็นผู้ทุศีล เป็นคนลามก ชนทั้งหลายถวายสังฆทานแก่คนเหล่านั้น เรา ก็กล่าวว่าเป็นสังฆทาน มีผลเป็นอสงไขย มีผลนับไม่ได้ " แต่นั้นเมื่อกาลล่วงไป ๆ ชนเหล่านั้นคิดว่า " พวกเราจะทำอย่างนั้นเพื่ออะไร เสียเวลาเปล่า " จึงแก้ผ้ากาสายะผืนน้อย ๆ นั้นเสีย ในกาลนั้นชื่อว่า ลิงค์อันตรธาน

              ๕. ธาตุอันตรธาน เมื่อกาลล่วงไป ๆ ผู้นับถือพระพุทธศาสนาลดน้อยลง ผู้ที่สักการะบูชาพระสรีรธาตุของพระศาสดาก็ลดลง ในที่ใดที่ไม่มีผู้สักการะบูชาแล้ว พระสรีรธาตุก็จะออกจากที่นั้นไปสู่สถานที่ ๆ ยังมีผู้สักการะบูชาอยู่ กาลต่อไปก็ไม่มีที่ใด ๆ เลยที่มีผู้สักการะบูชาในกาลนั้นพระสรีรธาตุทั้งหลายที่อยู่ในที่ต่าง ๆ และในพิภพนาคบ้าง เทวโลกบ้าง พรหมโลกบ้าง ไปสู่โพธิบัลลังก์ อันเป็นสถานที่ตรัสรู้แล้วรวมตัวกันเป็นองค์พระพุทธรูป มีมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการครบบริบูรณ์มีรัศมีซ่านออกจากพระวรกายวาหนึ่งโดยรอบ นั่งขัดสมาธิ ณ โคนต้นโพธิ์ กระทำยมกปาฏิหาริย์และแสดงพระธรรมเทศนา

               ในกาลนั้นมนุษย์จะไม่มีในที่นั้น จะมีแต่เหล่าเทวดาทั้งหลายที่มาจากหมื่นจักรวาล มาประชุมกันฟังพระธรรมเทศนา และได้บรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมาก เทวดาเหล่านั้นจะพากันคร่ำครวญรำพันว่า " วันนี้พระทศพลจะปรินิพพาน ตั้งแต่นี้ไปจะมีแต่ความมืด " จากนั้นไฟก็ลุกโพลงขึ้นจากพระสรีรธาตุ พลุ่งขึ้นสูงถึงพรหมโลก ไหม้สรีรธาตุหมดสิ้น ไม่มีเหลือแม้เท่าเมล็ดผักกาด หมู่เทวดาก็สักการะบูชาด้วยของหอม ดอกไม้และดนตรีทิพย์ เป็นต้น เหมือนวันที่พระองค์ทรงปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ทำปทักษิณา ๓ รอบแล้ว ถวายบังคมกราบทูลว่า " ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พวกข้าพระองค์จะได้เห็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปผู้จะเสด็จอุบัติขึ้นในอนาคต " นี้ชื่อว่า ธาตุอันตรธาน

   
 
(อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๓๒ หน้า ๑๖๗)
 


หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ภาพกิจกรรมวัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม l ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003  Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net