ปุสสเถระคาถา  
( ความพอใจของภิกษุในอนาคต )
 

              ฤๅษีชื่อ ปัณฑรสะ ได้เห็นภิกษุเป็นอันมากน่าเลื่อมใส อบรมตนแล้วสำรวมด้วยดี จึงถามพระปุสสะเถระว่า " ในอนาคตภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จะมีความพอใจอย่างไร มีความประสงฆ์อย่างไร ขอท่านจงบอกกระผมด้วยเถิด?"

            พระปุสสะเถระตอบด้วยคาถาว่า

            " ดูก่อน ปัณฑรสะฤๅษี ขอเชิญท่านฟังคำอาตมาจงจำคำของอาตมาให้ดี ในกาลข้างหน้าภิกษุทั้งหลายจะเป็นคนมักโกรธ ยกโกรธ ลบหลู่คุณท่าน ดื้อ โอ้อวด ริษยา เป็นคนเขลา ถือตัว โหดร้าย แข็งกระด้าง เกียจคร้าน ลวงโลก แสวงหาแต่ลาภผล ยกตน ฟุ้งซ่าน ไม่สำรวมอินทรีย์ จะเป็นคนทรามปัญญา ทุศีล ไม่มีความละอาย เพ่งโทษผู้อื่น มากไปด้วยมานะ และ ทิฐิ ภิกษุทั้งหลายจะพากันยินดีเงินทอง ไร่นา ที่ดิน แพะ แกะ และคนใช้หญิงชาย ภิกษุทั้งหลายจะทำตนดังพระอรหันต์ผู้วิเศษเที่ยวไป

   


             ภิกษุในอนาคตจะไม่เคารพพระพุทธเจ้า ไม่เคารพพระธรรม ไม่เคารพพระสงฆ์ ไม่เคารพในสิกขาบท ไม่เคารพกันและกัน จะมีมานะในธรรมที่ยังไม่รู้ทั่วถึงคิดว่าตื่นในธรรมที่ลึกซึ้ง ภิกษุผู้ไม่อายเหล่านั้นจะทำธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ดีแล้วให้เศร้าหมอง ภิกษุผู้ชั่วช้าเหล่านี้จะมีกำลังมาก ส่วนภิกษุผู้มีโวหารสมควรมีความละอาย ไม่ต้องการอะไรมีศีลอันเป็นที่รักจะมีกำลังน้อย ภิกษุในอนาคตจะไม่ศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกอันเป็นพุทธบัญญัติ จะศึกษาเล่าเรียนแต่คัมภีร์หรือ คาถาอื่นที่นักเขียนรุ่นใหม่แต่งขึ้น อันเป็นของภายนอกไม่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน ภิกษุในอนาคตจะแตกกันเป็นพวก เป็นนิกายมากมาย แต่ละพวกจะแต่งตำรา แต่งหลักคำสอนและบทบัญญัติขึ้นมาตามความคิดและความเชื่อของตน จะทะเลาะวิวาทกัน จะพากันก่ออธิกรณ์เป็นอันมากโดยไม่มีใครตัดสินอะไรได้

             ภิกษุในอนาคตจะยินดีในความสวยความงาม จะแต่งผมด้วยน้ำมันหอม แต่งหน้าแต่งตา ทาแป้ง ใช้เครื่องสำอางประทินโฉม ภิกษุเหล่านั้นจะเห็นการอยู่ป่าเป็นเรื่องลำบาก จะพากันอยู่แต่ในเสนาสนะใกล้บ้านภิกษุใดประกอบอาชีพด้วยดิรัจฉานวิชา เช่น เสกเป่า ร่ายมนต์ทำของขลังของวิเศษ ปรุงยารักษาโรค เป็นหมอรักษาโรค เป็นหมอดู เป็นหมอทำเสน่ห์ เป็นต้นจะได้ลาภสักการะเสมอ แล้วภิกษุอื่นๆก็พากันเอาอย่าง ภิกษุจะคบหาราชสกุล หรือผู้สูงศักดิ์เป็นต้นเพื่อหวังลาภ จะไม่บูชาภิกษุผู้มีลาภน้อย จะไม่สมาคมกับภิกษุผู้เป็นนักปราชณ์มีศีลอันเป็นที่รัก

             ภิกษุในอนาคตจะพากันรังเกียจและไม่เคารพในผ้ากาสายะ คือ ผ้าย้อมด้วยยางไม้อันมีสีเศร้าหมองที่พระอาริยเจ้าทั้งหลายผู้หลุดพ้นแล้วยินดียิ่งนัก เป็นธงชัยของพระอรหันต์ ว่าเป็นของหน้าเกียด จะพากันพอใจแต่จีวรที่มีสีสดใสแวววาว จะใช้แต่จีวรที่มีสีผิดพระวินัยบัญญัติ เช่น สีครามล้วนบ้าง สีเหลืองล้วนบ้าง สีแดงล้วนบ้าง สีบานเย็นล้วนบ้าง สีดำล้วนบ้าง สีแสดล้วนบ้าง สีชมพูล้วนบ้าง และจะไม่ตัดเย็บจีวรให้เป็นกระทงไม่ทำขนาดของจีวรให้ถูกตอ้งตามพระวินัย จะพากันห่มจีวรที่มีลวดลายบ้าง จีวรมีชายเป็นรายดอกไม้บ้าง สวมเสื้อนุ่งกางเกง สวมหมวก โพกผ้า เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

              ภิกษุทั้งหลายในอนาคตเมื่อถูกความทุกข์ครอบงำ ถูกลูกศรแทงเข้าแล้วก็ไม่พิจารนาโดยแยบคาย แสดงอาการยุ่งยากใจมา มีเสียงโอดครวญอย่างใหญ่หลวง อนึ่งภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายในอนาคต จะมีจิตรใจชั่วร้าย ไม่เอื้อเฟื้อจะข่มเหงภิกษุผู้คงที่มีเมตตาจิต พวกภิกษุผู้โง่เขลาเหล่านั้นจะทำตามความใคร่ความพอใจของตน พระเถระให้การศึกษาการใช้จีวรอย่างถูกต้อง การบิณฑบาตรอย่างถูกต้อง การใช้เภสัชรอย่างถูกต้อง การใช้เสนาสนะรอย่างถูกต้อง จะไม่เชื้อฟัง จะไม่เคารพ จะไม่เอื้อเฟื้อในพระอุปัชฌายาจารย์ จะเป็นเหมือนม้าพิการ ไม่เอื้อเฟื้อนายสารถีฉันนั้น ในกาลภายหลังจากการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่สามภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายจะเป็นอย่างนี้

              ครั้นพระปุสสะเถระแสดงมหาภัยอันบังเกิดขึ้นในกาลภายหน้าอย่างนี้แล้ว เมื่อจะให้โอวาทแก่ภิกษุที่ประชุมกัน ณ ที่นั้นอีก จึงกล่าวคาถา คาถาว่า:

             " ภัยอย่างใหญ่หลวงที่จะทำอันตรายต่อพุทธบัญญัติ ย่อมมาในอนาคตอย่างนี้ ขอท่าน ทั้งหลายจงเป็นผู้ว่าง่าย จงพูดแต่ถ้อยคำที่สละสลวย เคารพซึ่งกันและกัน มีจิตเมตตากรุณาต่อกัน จงสำรวมในศีล ปรารถนาความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ ขอท่านทั้งหลายจงเห็นความประมาทโดยความเป็นภัย จงเห็นความไม่ประมาทโดยความปลอดภัย จงอบรมมรรคมีองค์แปด เมื่อปฏิบัติดังนี้แล้วย่อมบรรลุพระนิพพานอันไม่เกิด ไม่ตาย."

   
 
จบปุสสเถรคาถา
(ยุททกนิกา เถรคาถา เล่ม๒๖ หน้า ๓๙๖)

 
 

หมายเหตุ

คำว่า ผ้ากาสายะ,กาสาวะ,กาสาวพัสตร์ คือ ผ้าห่มของภิกษุที่ย้อมฝาดอันย้อมด้วย ยางไม้, เปลือกไม้,ใบไม้,ดอกไม้,รากไม้ เป็นต้น

ดังนั้นสีของจีวรภิกษุจึงมีสีหม่นๆ เหมือนสีของเปลือกไม้ อันเป็นสีที่เศร้าหมองไม่ฉูดฉาดสมควรแก่สมณะ

คำว่าจีวร,สังฆาฏิ คือผ้าห่มชั้นเดียวเรียกจีวรถ้าซ้อนชั้นที่สองเช่นอากาศหนาวหรือออกนอกวัด ผืนซ้อนนอกเรียกว่าสังฆาฏิใช้สลับสับเปลี่ยนกันได้

เหตุที่ผ้านุ่งผ้าห่มของภิกษุต้องตัดเป็นท่อนๆ แล้วเย็บเป็นกระทงจะกี่กระทงก็ได้ เพื่อทำผืนผ้าให้หมดค่าไม่เป็นที่ปรารถนาของโจร
( ขนาดของจีวร,สังฆาฏิ คือ กว้าง ๖ คืบ ยาว ๙ คืบ ของผู้ห่ม )

   


หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ภาพกิจกรรมวัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม l ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003  Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net