ทาน คือ การให้ การละ การแจก ทานมี ๒ อย่าง คือ
  • บุคคลทาน
  • สังฆทาน
ทานทั้ง ๒ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน "ทักขิณาวิภังคสูตร" พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔
หน้า ๓๘๑ ดังนี้....


         
             สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ พระวิหารนิโครธาราม นครกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงทำผ้าใหม่คู่หนึ่ง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยการกรอด้ายเอง ทอเอง แล้วทรงถือผ้าคู่นั้นเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ กราบทูลขอถวายผ้าคู่นั้นเฉพาะพระองค์ พระองค์ทรงตรัสว่า "ดูก่อนโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จะเป็นอันพระนางได้บูชาอาตมภาพและสงฆ์ " พระนางทูลขอถวายเฉพาะพระองค์ถึง ๓ ครั้ง พระองค์ก็ทรงห้ามทั้ง ๓ ครั้ง พระนางจึงเสียพระทัย
            เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ พระอานันทะจึงกราบทูลพระองค์ ให้ทรงอนุเคราะห์พระนางมหาปชาบดีโคตมี เพราะพระนางทรงมีพระคุณต่อพระองค์ มีอุปการะมาก เป็นพระมาตุจฉาผู้ทรงบำรุงเลี้ยง ประทานพระขีรรสแด่พระองค์ เมื่อพระชนนีสวรรคตแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า.....
             "....ถูกแล้วอานันทะ เราไม่กล่าวว่าการตอบแทนคุณแก่บุคคล เพียงการกราบ การไหว้ การลุกรับ การทำความเคารพ ให้เครื่องนุ่งห่ม
ให้อาหาร ให้ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค แต่การทำให้บุคคล ถึงพระพุทธเจ้า, พระธรรม, และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) ได้ เรากล่าวว่าเป็นการตอบแทนด้วยดี"
             ".....การทำให้บุคคลงดเว้นจากการฆ่าสัตว์, การลักทรัพย์, การประพฤติผิดในกาม, การพูดโกหก, การดื่มสุราเมรัยและสิ่งเสพติดได้ เรา
กล่าวว่าเป็นการตอบแทนด้วยดี"
            ".....การทำให้บุคคลเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า, พระธรรม, และพระสงฆ์ เป็นผู้มีศีล ๕ ที่พระอริยะเจ้าสรรเสริญได้ เรา
กล่าวว่าเป็นการตอบแทนด้วยดี"
            ".....การทำให้บุคคลเห็นทุกข์, เหตุแห่งทุกข์, ความดับทุกข์ และหนทางดับทุกข์ได้ เรากล่าวว่าเป็นการตอบแทนด้วยดี"

บุคคลทาน
"ดูก่อนอานันทะ.... บุคคลทาน (การให้เจาะจงบุคคล) มี ๑๔ อย่าง คือ ให้แก่….
๑.พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ๒.พระปัจเจกพุทธะ
๓.พระอรหันต์ ๔.พระอรหันตมรรค
๕.พระอนาคาม ี ๖.พระอนาคามีมรรค
๗.พระสกทาคาม ๘.พระสกทาคามีมรรค
๙.พระโสดาบัน ๑๐.พระโสดาปัตติมรรค
๑๑.คนภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ๑๒.คนมีศีล ๕
๑๓.คนทุศีล ๑๔.สัตว์เดรัจฉาน"
"ดูก่อนอานันทะ.... ทาน ๑๔ ประการนั้น....
  • ให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน ได้อานิสงส์.... ร้อยเท่า
  • ให้ทานในคนทุศีล ได้อานิสงส์.... พันเท่า
  • ให้ทานในคนมีศีลห้า ได้อานิสงส์.... แสนเท่า
  • ให้ทานในคนภายนอก ผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ได้อานิสงส์.... แสนโกฏิเท่า
  • ให้ทานในพระโสดาปัตติมรรค ได้อานิสงส์.... อสงไขย (นับไม่ได้) จะกล่าวไปใยในพระโสดาบัน... พระสกทาคามี......และพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า"
สังฆทาน
"ดูก่อนอานันทะ... สังฆทาน (การให้เจาะจงหมู่สงฆ์ หรือ กองกลางสงฆ์) มี ๗ อย่างคือ....
๑. หมู่พระภิกษุสงฆ์ และหมู่พระภิกษุณี มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๒. หมู่พระภิกษุสงฆ์ และหมู่พระภิกษุณีสงฆ์
๓. หมู่พระภิกษุสงฆ์
๔. หมู่พระภิกษุณีสงฆ์
๕. นิมนต์พระภิกษุ และพระภิกษุณี ตามจำนวนที่ปรารถนา (ตั้งแต่ ๑ องค์ขึ้นไปของแต่ละฝ่าย)
๖. นิมนต์พระภิกษุ ตามจำนวนที่ปรารถนา (ตั้งแต่ ๑ องค์ ขึ้นไป)
๗. นิมนต์พระภิกษุณี ตามจำนวนที่ปรารถนา (ตั้งแต่ ๑ องค์ ขึ้นไป)"
"ดูก่อนอานันทะ... ในอนาคตกาลจะมีแต่เหล่าพระภิกษุโคตระภู (กึ่งกลางระหว่างปุถุชนกับอริยะบุคคล) เป็นผู้มีผ้ากาสาวพัตร์ ผืนน้อยๆพันคอไว้ เป็นคนทุศีล ลามก คนทั้งหลายจะถวายสังฆทานแก่คนเหล่านั้น ย่อมถือว่าเป็นสังฆทาน มีอานิสงส์เป็นอสงไขย ดูก่อนอานันทะ… เราไม่กล่าวว่า บุคคลทาน มีอานิสงส์มากกว่า สังฆทาน ด้วยประการใดเลย"

ความบริสุทธิ์แห่งทาน

"ดูก่อนอานันทะ....
ผู้มีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใส เชื่อกรรมและผลของกรรม ให้ทานในคนทุศีล ทานนั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายผู้ให้
ผู้ทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม ไม่มีจิตเลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม ให้ทานในคนมีศีล ทานนั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายผู้รับ
ผู้ทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม ไม่มีจิตเลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม ให้ทานในคนทุศีล ทานนั้นชื่อว่า ไม่มีผลไพบูลย์
ผู้มีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใส เชื่อกรรมและผลของกรรม ให้ทานในคนมีศีล ทานนั้นชื่อว่า มีผลไพบูลย์
ผู้ปราศจากราคะ ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใส เชื่อกรรมและผลของกรรม ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานนั้นชื่อว่า เลิศกว่าทานทั้งหลาย"

วิธีการให้ทาน

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พึงให้ด้วยมือตน องคาส (ประเคน) หยิบจับยื่นส่งให้ ด้วยมือผู้ให้ต่อมือของผู้รับ ไม่ใช่วางให้ ทิ้งให้ หรือโยนให้ พระภิกษุในสมัยพุทธกาล และในประเทศอื่นๆในปัจจุบัน เมื่อมีสตรีถวายของจะใช้มือรับต่อจากมือ แต่พระภิกษุในประเทศไทยมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป โดยพระภิกษุจะใช้ผ้ารองรับของจากมือสตรีแทน
พระภิกษุเป็นจำนวนมาก ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก จึงไม่รู้ว่าสังฆทานเป็นอย่างไร? มีกี่อย่าง?? คิดว่าพระภิกษุองค์เดียวรับสังฆทานไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีญาติโยมมาถวายสังฆทาน มักจะบอกไม่ให้ญาติโยมกล่าวถวายสังฆทาน แล้วตนเองก็ยึดถือของนั้นว่าเป็นของส่วนตัว บาปหนักจึงเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้นั่นเอง


วิธีการถวายสังฆทาน

ก่อนที่จะประเคนของถวายพระภิกษุ ผู้ให้ควรกล่าวด้วยวาจา โดยกราบ ๓ ครั้งก่อน แล้วกล่าวตามคำกล่าวที่ผู้รู้ทั้งหลายได้กล่าวเป็นแบบอย่างไว้ดังนี้
"อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโนพันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปฏิกคันหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ"
คำแปล "ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดสิ้นกาลนานเทอญ"

             พระภิกษุทั้งหลายก็จะกล่าวรับพร้อมกันว่า "สาธุ" ถ้ามีพระภิกษุองค์เดียวก็รับองค์เดียว จากนั้นผู้ให้ก็ยกของขึ้นประเคน ถ้ามีผู้ให้ร่วมกันหลายคน ก็ให้ส่งตัวแทนไปยกของประเคนพระภิกษุ ส่วนผู้ที่เหลืออยู่ให้ยกมือพนมไว้จนกว่าการปะเคนของถวายพระภิกษุจะเสร็จสิ้น แล้วพระภิกษุก็จะให้พร ผู้ให้ทุกคนพนมมือรับพรแล้วกราบ ๓ ครั้ง
             ขณะที่พระภิกษุกำลังให้พรอยู่นั้น ผู้ให้จะหลั่งน้ำเพื่อกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศล ไปให้แก่ญาติ หรือจะเพียงตั้งจิตอธิษฐานอุทิศส่วนบุญในใจก็ได้ การกรวดน้ำอาจจะกรวดน้ำภายหลังจากรับพร แล้วกล่าวคำอุทิศส่วนบุญก็ได้

ไทยธรรมสำหรับการถวายสังฆทาน

              ไทยธรรม คือ ของควรให้ ของทำบุญต่าง ๆ ที่ใช้ในการถวายสังฆทาน เช่น ที่อยู่อาศัย กุฏิ ศาลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ฯลฯ. อย่างเดียวหรือกี่อย่างก็ได้ ในปัจจุบันนี้มีร้านค้าจัดของสำหรับถวายสังฆทานขาย มีของหลายอย่างรวมใส่ภาชนะจัดห่อไว้อย่างดี โดยทำให้ดูพูนๆ ติดราคาไว้หลายราคา แต่สิ่งของที่หีบห่อจริงๆไม่เต็มตามราคา บางหีบห่อจะมีกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าปั้น เป็นก้อนใหญ่รองก้นไว้ เพื่อให้ของดูมากขึ้น เป็นการเอาเปรียบ ดังนั้นของที่จะถวายสังฆทานควรจัดเองดีกว่า ไม่ยุ่งยากอะไร ซื้อของที่คิดว่าพระภิกษุจะใช้จริงๆ เพียง ๑ หรือ ๒ อย่างก็ได้ ใส่ถุงหิ้วไปถวายเป็นสังฆทานได้เลย
อีกประการหนึ่ง เครื่องบูชาควรใช้แต่ดอกไม้อย่างเดียวก็พอ เพราะเมื่อเก่าแล้วสามารถเก็บชำระได้ง่าย ธูปและเทียนไม่ควรใช้ ไม่ควรซื้อไปถวายสังฆทาน เพราะสกปรกเก็บชำระยาก ถ้าต้องการจะถวายด้วยธูปเทียน ควรจะเปลี่ยนเป็นหลอดไฟฟ้าจะดีกว่าเพราะวัดต้องใช้ ให้แสงสว่างได้จริง ใช้ประโยชน์ได้จริง



หน้าแรก ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ภาพกิจกรรมวัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม I ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003 Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net