๑. เพราะเหตุใดการเจริญอิทธิบาท๔ จึงทำให้มีชีวิตยืนยาวตลอดกัปหรือยิ่งกว่ากัป?




ตอบ
    อิทธิบาท แปลว่า ที่ตั้งแห่งฤทธิ์  จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมมีอำนาจวิเศษบังคับร่างกายให้คง สภาพเดิมให้ยืนยาวได้ เมื่อบังคับไว้จนเกินอายุขัยแล้วถ้าจิตคลาดเคลื่อนจากสมาธิร่างกาย ก็จะแตกดับ คือ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว บังคับให้อายุยืนยาวได้ แต่บังคับไม่ให้ตายไม่ได้



๒. กัป ในที่นี้หมายถึง อายุกัปคือ อายุมนุษย์ หรือกัปที่หมายถึงอายุของโลก?




ตอบ
      คำถามนี้ใครๆมักตอบว่าเป็นอายุกัป คืออายุของมนุษย์ ความจริงในสมัยที่โลกก่อกำเนิดใหม่ๆ มนุษย์มีอายุเป็นอสงไขยปี (นับไม่ถ้วน) ต่อมามนุษย์เริ่มทำบาปทางกาย ทางวาจา และทางใจมากขึ้น อายุก็ค่อยๆลดลง ผิวพรรณก็ค่อยๆเศร้าหมองลง เวลา ผ่านไปทุก ๑๐๐ ปี อายุจะลดลง ๑ ปี ดังนั้นในบางยุคบางสมัยมนุษย์มีอายุหลายล้านปีบ้าง หลายแสนปีบ้าง หมื่นปีบ้าง พันปีบ้าง
     ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคตะมะของเรายังมีพระชนม์อยู่ อายุของมนุษย์ประมาณ ๑๐๐ ปี คือ ๘๐-๙๐ ปีบ้าง ๑๑๐-๑๒๐-๑๓๐ ปีบ้าง สมัยนั้นคนที่มีอายุ ๑๑๐-๑๒๐-๑๓๐ ปี มีมากมายโดยไม่ต้องเจริญอิทธิบาท๔ ขณะนี้พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานไปแล้ว ๒๕๐๐ ปี ดังนั้นอายุของมนุษย์ก็ลดลงไปแล้ว ๒๕ ปี คงเหลือ ๗๕ ปี และในสมัยนี้ผู้ที่มีอายุ ๗๕ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ๑๔๐ ปีบ้าง ก็ยังมีอยู่มากมายโดยไม่ต้องเจริญอิทธิบาท๔ ถ้าจะเจริญอิทธิบาท๔ เพื่อจะมีอายุแค่ ๗๕ ปี หรือ ๑๔๐ ปี จะมีความหมายอะไร เพราะมนุษย์ก็มีอายุแค่นี้อยู่แล้ว คำสอนของพระศาสดาก็ไม่วิเศษวิโสอะไร ไม่ใช่ธรรมะวิเศษอะไร ดังนั้น “กัป” ที่ถูกต้องในที่นี้จึงหมายถึง “กัป” อันเป็นอายุของโลกนั่นเอง



๓. ความหมายของคำว่านิทาน หรือชาดกในพระไตรปิฎก คือเรื่องที่สมมุติขึ้น เพื่อยกเป็นตัวอย่างหรือเทียบเคียง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในปัญหาธรรมต่างๆ ใช่หรือไม่?




ตอบ

ภาษาไทยหลายคำเอามาจากภาษาบาลี เมื่อเอาของเขามาใช้แล้ว หลายคำทำสำเนียงผิดไป ทำคำแปลหรือความหมายผิดไป เช่น :-

  • คำว่า “นิทาน” มาจากคำบาลีว่า นิดานะ(Nidana) แปลว่า ต้นเหตุ แต่ชาวไทยเอามาแปลว่า เรื่องแต่งหรือเรื่องโกหก
  • คำว่า “ชาดก” มาจากคำบาลีว่า ชาตะกะ(Jataka) แปลว่าเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า แต่ชาวไทยเอามาแปลว่า
    นิทาน โกหก
  • คำว่า “ไตรปิฎก” มาจากคำบาลีว่า ติปิตะกะ(Tipitaka) แปลว่า ๓ ตะกร้า หรือ ๓ คัมภีร์ คำนี้ชาวไทย ทำสำนวนผิดไป อย่างเดียว แต่ความหมายถูก
  • คำว่า “มานะ” มาจากคำบาลีว่า มานะ(Mana) แปลว่า ถือตัว ชาวไทยเอามาแปลว่า ขยัน หมั่นเพียร
         ดังนั้นคำว่านิทาน และคำว่าชาดก จึงไม่ใช่เรื่องสมมุติขึ้น เทียบเคียง หรืออุปมาอุปไมย แต่เป็นเรื่องจริง พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งศีล สมาธิ ปัญญา เป็นศาสนาของปัญญาชนที่ใคร่ต่อเหตุผล พระพุทธเจ้าบรมศาสดาทรงมีศีลย่อมไม่โกหก


๔. คนที่มีอาชีพในการค้าประเวณี พ่อเล้า แม่เล้า ได้เงินมาจากการประกอบกิจการดังกล่าว แล้วนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้ไปทำบุญเป็นประจำมิได้ขาด มีการบริจาคทานสม่ำเสมอ และมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา เขาจะได้อานิสงส์จากการทำบุญและทานที่ได้ทำไปแล้วนั้นเทียบเท่ากับบุคคลทั่วไปหรือไม่? อย่างไร? เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลหรือไม่?




ตอบ
     “ผู้ให้เป็นผู้มีศีล ได้ทรัพย์มาโดยธรรม ผู้รับก็มีศีล ทานนี้จึงเป็นทานที่บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่าย ย่อมมีผลไพบูลย์ ถ้าผู้ให้หรือผู้รับไม่มีศีล ทรัพย์ที่ให้ก็ไม่ได้มาโดยธรรม ทานนั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ มีผลไม่ไพบูลย์”
      นางคณิกา ภาษาบาลีของชาวอินเดีย แปลว่า โสเภณี หรือหญิงงามเมือง หรือผู้ทำเมืองให้งาม เป็นอาชีพในด้านบริการที่เก่าแก่มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ในสมัยก่อนชาวชมพูทวีปและชาวโลกถือว่าเป็นอาชีพที่ขึ้นหน้าขึ้นตา เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม ผู้เป็นโสเภณีหรือสามีของเธอ (พ่อเล้า) หรือแม่ หรือผู้ปกครองของเธอ (แม่เล้า) ไม่ได้ไปหลอกลวงใครให้มาเป็นโสเภณี แล้วบังคับขู่เข็นให้ทำงานหาเงินเยี่ยงทาษ หรือไปผิดลูก ผิดสามี ผิดภรรยาของใคร โดยที่พ่อแม่ของเขา ภรรยาของเขา สามีของเขา ผู้ปกครองของเขาไม่ยินยอม นั่นถือว่าไม่ผิดศีล
  ในพระไตรปิฎกอรรถกถา เรื่องคุรุธรรมชาดก เล่ม ๕๔ หน้า ๑๙๑ กล่าวไว้ว่า:-
     “.......พระราชา (แห่งนครอินทปัฏฏ์ แคว้นกุรุ) ๑ พระชนนี๑ พระอัครมเหสี๑ พระอุปราช๑ ปุโรหิต๑ อำมาตย์ผู้รังวัดที่๑ สารถี๑ เศรษฐี๑ อำมาตย์ผู้ตวงข้าว๑ นายประตู๑ และนางคณิกา๑ ดำรงอยู่ในกุรุธรรม (ศีล๕)”
      ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์พร้อมทั้งพระภิกษุสงฆ์ จำนวนมาก เสด็จถึงเมืองเวสาลี แล้วประทับอยู่ ณ.สวนมะม่วงของนางอัมพบาลี นางเป็นโสเภณีที่ สวย รวย มีชื่อเสียง เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวเมืองเวสาลี ชายชาวเวสาลีและ เจ้าชาย ทั้งหลายในราชนิกูลลิจฉวี ต่างก็ใช้บริการของนาง นางได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟัง พระธรรมเทศนา ได้ถวายภัตตาหาร และได้สร้างวัดถวาย พระองค์พร้อมทั้ง พระภิกษุสงฆ์ พระองค์ก็ทรงรับอนุโมทนาเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป
     แต่ก่อนใครคิดจะเกาะโสเภณีหากิน หรือเบียดเบียนรังแกโสเภณี ย่อมได้ชื่อว่า เสียเกียรติ เสียศักดิ์ศรี เป็นสิ่งที่น่าละอายอย่างใหญ่หลวง แต่ในโลกยุคใหม่มนุษย์ ไม่คำนึงถึงเกียรติศักดิ์ศรี หมดความละอาย ข่มเหง เบียดเบียนรังแก และเข้าครอบงำ หญิงโสเภณี พวกนักเลงและพวกอันธพาลเหล่านี้ ล่อลวง บังคับ ข่มขู่ลูกสาวชาวบ้าน แล้วบังคับให้ทำงานหาเงินเยี่ยงทาส มีการแสวงหาผลประโยชน์ ส่งส่วย สืบต่อกันในคนหลายจำพวก ตลอดจนถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกันอย่างเอิกเกริก ภาพลักษณ์ของโสเภณีจึงเปลี่ยนไปเป็นความตกต่ำ เป็นบุคคลที่แพร่โรคร้าย ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม สังคมไม่ยอมรับว่าเป็นอาชีพที่ถูกต้อง ยิ่งไม่ยอมรับว่าเป็นอาชีพที่ ถูกต้อง ก็ยิ่งเป็นช่องทางหากินของเจ้าหน้าที่รัฐ ถึงโสเภณีจะเป็นอาชีพที่ตกต่ำ ในความรู้สึกของสังคม แต่มนุษย์ทั้งหลายก็ยังต้องไปพึ่งบริการทั้งของหญิงโสเภณี และชายโสเภณี !!! เพราะมนุษย์เป็นพวกกามาวจร เป็นพวกกามภูมิ
   


๕. จะมีวิธีการหรืออุบายใดที่จะละนิวรณ์ เพื่อให้สมาธิเจริญก้าวหน้าได้?




ตอบ

     นิวรณ์ (เครื่องกั้น) ๕ คือ กาม, พยาบาท, ความง่วง, ความฟุ้งซ่าน, และความลังเลสงสัย พระผู้มีพระภาคทรงตรัสวิธีแก้ดังนี้

  • กาม แก้ด้วยการพิจารณาให้เห็นสิ่งสกปรก ความน่าเกลียดของสังขารร่างกาย
  • พยาบาท แก้ด้วยการเจริญเมตตาจิต
  • ความง่วง แก้ด้วยการเดิน, กานยืน, การนั่ง, สวดมนต์, เริ่มทำกิจการงาน ทำสัญญาในกลางคืนว่ากลางวัน ในกลางวันว่ากลางคืน
  • ความฟุ้งซ่าน แก้ด้วยการข่มจิตไว้ ทำบ่อยๆ ทำให้มาก
  • ความลังเลสงสัย แก้ด้วยการไม่ลังเล จงปักใจเชื่อ
     



๖. กิจอันใดที่พระภิกษุ หรือสมณะควรทำอย่างยิ่ง และเป็นกิจที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้แล้ว?




ตอบ
      ละกิเลสตัณหา ทำพระนิพพานให้แจ้ง ไม่ใช่บวชมาสะสมเงินทอง สะสมพอกพูนกิเลส



๗. พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้อย่างไร? และทำไมต้องมีพระพุทธศาสนา?




ตอบ
     เกิดขึ้นได้เพราะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เหตุที่มีพระพุทธศาสนาเพราะสัตว์โลกมีทุกข์ คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นข้อปฏิบัติให้สัตว์โลกพ้นจากทุกข์ แต่สัตว์โลกส่วนน้อยเท่านั้นที่ยินดีในพระพุทธศาสนา ศาสนาอื่นๆก็มีมากในโลก แต่ศาสนา เหล่านั้นดับทุกข์ไม่ได้ ทั้งเป็นสิ่งมอมเมา เป็นต้นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง และจบลงด้วยการทำลายล้าง สัตว์โลกส่วนมากชอบกันอย่างนั้น เพราะรู้ผิดๆ เชื่อผิดๆ แล้วพากันไปสู่อบาย



๘.การที่บุคคลไปลักทรัพย์ของคนอื่นมาครอบครองไว้เพื่อตน แต่การลักทรัพย์นั้นไม่มีใครรู้เห็นจึงไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมาย และโทษทัณฑ์ ในปัจจุบันได้ถามว่าถ้ากฎแห่งกรรมมีจริงเขาจะต้องได้รับโทษที่ทำไว้หรือไม่? ถ้าได้รับโทษจะได้รับอย่างไร? และเคยมีตัวอย่างที่ พระพุทธองค์ตรัส ไว้หรือไม่?



ตอบ

  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้ทำกรรมใดไว้ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้น บุญก็ดี บาปก็ดี ที่บุคคลทำไว้แล้ว
ถึงแม้เขาจะไปอยู่ในที่ใด ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน, ในป่า, ในถ้ำ, อยู่ใต้บาดาล, หรือมีปีกบินในอากาศก็ด
ี สถานที่ๆผลของบุญ ผลของบาปจะไม่ส่งผล ไม่มีในโลก”

  • เฉพาะเรื่องการลักทรัพย์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้:-
          “การลักทรัพย์ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังเขาให้ไปเกิดเป็นสัตว์นรก
    เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือ เกิดเป็นเปรต อย่างเบาที่สุดย่อมทำความพินาศให้แก่ทรัพย์ของเขา 
    เมื่อเขากลับมาเกิดเป็นมนุษย์” 
       (สัพพละหุสะสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ หน้า ๒๓๒)
  • อีกเรื่องหนึ่งปรากฏใน มัตตาเปติวัตถุ ดังนี้:-
          นางเปรตตนหนึ่ง บอกนางติสสา ซึ่งเป็นหญิงร่วมสามีในชาติก่อนว่า “วันหนึ่งได้มีการประชุม
    พวกญาติมิตรทั้งหลาย ท่าน ได้รับเชิญ แต่ฉันไม่มีใครเชิญ เมื่อท่านเผลอฉันได้ลักผ้าของท่าน
    ซ่อนเสีย บัดนี้ฉันจึงต้องเปลือยกายเพราะวิบากของกรรมนั้น....”
         “วันหนึ่งฉันได้ลักของหอม ดอกไม้ และเครื่องสำอางอันมีค่ามากของท่านทิ้งลงในหลุมอุจจาระ
    บาป ที่ฉันได้ทำไว้แล้วนั้น ส่งผลให้ฉันมีกลิ่นกายเหม็นเหมือนอุจจาระ เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น”
        (มัตตาเปติวัตถุ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ หน้า ๑๖๓)
    


๙. เมื่อในเร็วๆนี้ตามข่าวหนังสือพิมพ์ มีแม่ลูกเจ็ดลักทรัพย์มาเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ แต่ทำไมการประพฤติผิดต่อการลักทรัพย์นั้น กลับกลายเป็นจุดพลิกผันของชีวิต แทนที่จะต้องชดใช้กรรมโดยการติดคุกติดตะราง แต่กับได้รับความเมตตาจากสังคม ให้ความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้มีอาชีพสามารถเลี้ยงดูลูกและกลับตัวเป็นคนดีต่อไปของสังคม ในข้อนี้จะอธิบายเรื่องกฎแห่งกรรมได้อย่างไร?




ตอบ
    การลักทรัพย์ตามห้างสรรพสินค้า มีปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อย คนลักทรัพย์ ก็มีหลายจำพวก บางพวกขโมยไปขายเพื่อซื้อยาเสพติด บางพวกขโมย ไปขายแล้ว นำเงินไปเที่ยวเตร่ บางพวกอยากได้ของตามสมัยนิยม บางพวกเป็นดาราภาพยนตร์ มีชื่อเสียงร่ำรวย แต่ก็ไปขโมยของตามห้างสรรพสินค้าเพราะสนุกดี บุคคลเหล่าน ี้ย่อมไม่ได้รับความเห็นใจจากสังคมเมื่อเขาถูกจับแล้ว แต่กรณีของแม่ลูก ๗ นี้ เมื่อ ขโมยของแล้วก็ถูกเจ้าหน้าที่จับได้พาไปดำเนินคดี แต่สังคมพิจารณาแล้ว เห็นว่า อาจเป็นความจำเป็นจริงๆ ถึงคราวอดอยากแน่แล้วจึงมาขโมยทรัพย์เยี่ยงนี้ มนุษย์ใน สังคมโลกเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณ มีเมตตาย่อมทนอยู่ไม่ได้ ใคร่ครวญแล้วเห็นว่า ควรได้รับการอนุเคราะห์ ช่วยกันจัดหาเครื่องมือประกอบอาชีพให้อย่างมั่นคง แต่ถ้า แม่คนนี้ยังไปลักของเขาอีก คราวนี้สังคมคงไม่เมตตา อีกอย่างหนึ่งชาติก่อนเขาเคย ให้ทานไว้ ชาตินี้จึงมีคนให้ข้าวของอย่างมากมาย


๑๐. มูลเหตุของปัญหาข้อที่ ๙ เกิดจากอะไร?



ตอบ
      เกิดจาการชิงสุกก่อนห่าม เกิดจากการไม่รู้จักประมาณตนก่อนที่จะมีคู่ครอง ไม่รู้จักประมาณตนก่อนที่จะมีลูก คนจำนวนมาก ในสมัยนี้ริมีคู่ตั้งยังเด็ก บางพวกกำลังเรียนอยู่รักกัน ก็พากันไปเช่าหอพักอยู่กินกัน แล้วก็เอาตัวไม่รอด บางพวกงานการ ก็ยังไม่มีจะทำ ก็ไปอยู่กินด้วยกัน แล้วค่อยวิ่งรอกหางาน บางพวกอยู่กินด้วยกันแล้วก็รู้อยู่ว่าไม่มีฐานะ ไม่มีรายได้พอที่จะเลี้ยงลูก ไม่พร้อมที่จะรับผิด ชอบต่อลูกที่เกิดมา ต้องทิ้งไว้ทีโรงพยาบาลแล้วหนีมาบ้าง เอาไปทิ้งตามถังขยะบ้าง สมัยก่อนใครมีลูกมากๆ เป็น ๑๐ คนขึ้นไป จะได้ชื่อว่าเป็นคนเก่ง ทางรัฐบาลให้เงินรางวัล แต่เดี๋ยวนี้การมีลูกมากหมดสมัยเสียแล้ว



๑๑. จะรู้ได้อย่างไรว่าคนๆนั้น หรือตัวของเราได้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงกระแสพระนิพพาน และมีพระนิพพานในเบื้องหน้า ?




ตอบ
    จะรู้ได้คือ เริ่มมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เริ่มเข้าวัด ตักบาตร ทำบุญ ฟังเทศน์ เริ่มค้นคว้าศึกษาพระธรรม เริ่มเห็นความไม่เที่ยง เริ่มเห็นทุกข์เห็นโทษของโลก เริ่มเห็นความไร้สาระไร้แก่นสารของโลก เริ่มเบื่อหน่ายไม่อยากดูหนังดูละคร รู้ตัวว่า ความโลภเบาบาง ความกำหนัดเบาบาง ความโกรธเบาบาง
    





หน้าแรก I ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ภาพกิจกรรมวัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม I ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003 Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net