๑. เพราะเหตุใด หรืออะไรดลใจให้ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ กระทำการต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างดี ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ได้ตกลงนัดหมายกันและกันไว้ว่า จะไม่ต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้าที่กำลังเสด็จมาถึง?




ตอบ
เพราะปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้ร่วมสร้างบุญบารมีร่วมกับพระพุทธเจ้ามาแล้วในอดีตชาติ บุญนั้นจึงดลบันดาลให้ต้องต้อนรับพระองค์



๒. จากพระไตรปิฎก มหาขันธกะ พุทธปริวิตกกถา ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนาจากท้าวสหัมบดีพรหม ที่มาทูลขอให้พระพุทธองค์แสดงธรรมเพื่อโปรดแก่หมู่สัตว์ทั้งหลาย ในขณะที่มีพุทธดำริว่าเราจะแสดงธรรมแก่ อาฬารดาบสกาลามโคตรและอุทกดาบสรามบุตร ก็ได้มีเทวดามากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า บุคคลเหล่านั้นได้สิ้นชีพไปก่อนหน้านี้แล้ว ในขณะที่มีพุทธดำริเพื่อแสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์ ทำไมพระพุทธองค์จึงไม่ทรงทราบด้วยพระญาณของพระองค์เองว่า บุคคลเหล่านั้นได้สิ้นชีพไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าที่พระพุทธองค์ทรงทราบเพราะมีเหล่าเทวดามากราบทูล?




ตอบ พระองค์ดำริว่าจะสอน แต่ยังไม่ทันดำริว่าจะทราบที่อยู่ของดาบสทั้งสอง เทวดาก็มากราบทูลบอกพระองค์เสียก่อน ถ้าเทวดาไม่มากราบทูล พระองค์ก็จะทรงทราบด้วยญาณวิเศษของพระองค์เอง ดังปรากฏในหลายพระสูตร เช่น เมื่อมีบุคคลสำคัญสิ้นชีวิตไป พระองค์ก็จะตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า ขณะนี้ผู้นั้นได้ไปเกิดในที่นั้นๆ หรือปรินิพพานแล้ว ในขณะเดียวกันเทวดาก็มากราบทูลบอกพระองค์อีก เพื่อเป็นการยืนยันเรื่องนั้น

อีกอย่างหนึ่งในเวลาก่อนรุ่งอรุณของทุกวัน พระพุทธเจ้าย่อมสอดส่องพระญาณดูว่า วันนี้จะมีสัตว์ผู้มีบุญผู้ใดอยู่ที่ไหน มาปรากฏในข่ายพระสัพพัญญุตญาณ สมควรที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด



๓. พระพุทธเจ้ามีอยู่จริงหรือ… และมีอะไรพิสูจน์ให้เห็นได้…??




ตอบ
พระพุทธเจ้ามีอยู่จริง เพราะมีเครื่องหมาย เสาศิลาจารึก และสถูปเจดีย์ ที่พระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นทรงสร้างไว้ในที่ต่างๆ เช่น ที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่แสดงปฐมเทศนา และที่ปรินิพพานเป็นต้น รวมทั้งมีเรื่องราวต่างๆที่ถูกจดบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก และตำราประวัติศาสตร์โลก



๔. โกณฑัญญะ กับ คำว่าอัญญาโกณฑัญญะ ต่างกันอย่างไร แล้วทำไมต้องเปลี่ยนชื่อด้วยหลังจากมีดวงตาเห็นธรรม?




ตอบ
โกณฑัญญะ ที่ได้ชื่อว่าอัญญาโกณฑัญญะ เพราะเมื่อท่านฟังปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า และได้ธรรมจักษุ พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า “อญฺญาสิ วตโภ โกณฺฑญฺโญ ๆ” (โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ) คำว่า อัญญาจึงมารวมเข้ากับชื่อของท่าน

คำว่า “อัญญา” แปลว่า รู้แล้ว (ดวงตาเห็นธรรม, บรรลุโสดาบัน) และท่านก็ไม่ได้เปลี่ยนชื่อ แต่เป็นคำเรียกที่คุ้นเคยในฐานะพิเศษที่เป็นภิกษุผู้บรรลุโสดาบันเป็นองค์แรกในโลก



๕. ทำไมจึงมีสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกา กับ อิรัก เกิดขึ้น?




ตอบ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เหตุที่กษัตริย์ทะเลาะกับกษัตริย์ พราหมณ์ทะเลาะกับพราหมณ์ และคฤหบดีทะเลาะกับคฤหบดี เพราะตัณหา (ความทะยานอยาก)”

เมื่อสัตว์โลกมีตัณหา อกุศลธรรมอันลามกทั้งหลายย่อมตามมา คือ มานะ (ความถือตัว) และทิฎฐิ (ความเห็นผิด) เมื่อมีมานะและทิฎฐิ ย่อมมีการทะเลาะว่า “มึงๆกูๆ” เมื่อมีการทะเลาะว่า “มึงๆกูๆ” ย่อมมีการทุบตีด้วยฝ่ามือบ้างขว้างปาด้วยก้อนดิน, ก้อนหิน, ท่อนไม้บ้าง แล้วต่อสู้ประหัตประหารกันด้วยอาวุธอันคม

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
“ผู้ด่าย่อมถูกด่าตอบ ผู้ซึ่งเครียดย่อมถูกขึ้งเครียดตอบ ผู้ทำร้ายย่อมถูกทำร้ายตอบ”



๖. เมื่อสหรัฐอเมริการบกับอิรัก จนแพ้ชนะกันแล้ว ต่อไปจะเป็นอย่างไร?




ตอบ
๑.ถ้าทั้งสองฝ่ายอาฆาตจองเวรกัน ย่อมมีการรบแบบใต้ดินและบนดิน การลอบทำร้ายกัน และการก่อวินาศกรรมเกิดขึ้นต่อไป แล้วทั้งสองฝ่ายจะต้องนอนสะดุ้งผวาตลอดชั่วโคตรชั่วตระกูล และถึงความพินาศทั้งคู่ ถ้าทั้งสองไม่อาฆาตจองเวรกัน ทุกอย่างก็จบแค่นั้น

๒.ถ้าสงครามยุติแล้ว แต่ประเทศนั้นเกิดมีหลายกลุ่มหลายฝ่าย ย่อมเกิดการขัดแย้งและทะเลาะกันต่อไป



๗. ทำไมโลกนี้จึงแบ่งเป็นประเทศต่างๆ และไม่รวมกันเป็นประเทศเดียว?




ตอบ
เพราะมนุษย์มีตัณหา (ความทะยานอยาก), มานะ (ความถือตัว), และทิฎฐิ (ความเห็นผิด)



๘. ถ้าประเทศต่างๆในโลก มารวมเป็นประเทศเดียวกัน จะดีหรือไม่?




ตอบ
ดี แต่ต้องนับถือศาสนาที่มีศีล ๕ เหมือนกัน ศาสนาเดียวกัน แล้วต้องไม่แตกเป็นนิกายต่างๆ ถ้ายังแตกนิกายก็ยังต้องทะเลาะกันตีกันไม่จบสิ้น



๙. จากข้อ ๘ ถ้าดีจะดีอย่างไร? ถ้าไม่ดีจะไม่ดีอย่างไร??




ตอบ
ข้อดี คือ ๑.ไม่ต้องรบกัน
๒.ไม่ต้องทำหนังสือเดินทางระหว่างประเทศ อยากไปไหนก็ไปได้
๓.ใช้เงินสกุลเดียวกัน ไม่ต้องวิตกเรื่องค่าเงินและการแลกเปลี่ยน
๔.ไม่ต้องเสียภาษีสินค้าระหว่างประเทศ
๕.ทุกคนพูดภาษาเดียวกัน ไม่ต้องเสียเวลาเรียนหลายภาษา
๖.โลกจะมีสันติสุขถึงที่สุด
ข้อเสีย คือ ๑.นักค้าอาวุธหนักทำอาชีพไม่ได้
๒.นักเก็งกำไรค่าเงินทำอาชีพไม่ได้
๓.ครูสอนภาษาต่างประเทศทำอาชีพไม่ได้




๑๐. ถ้าประเทศต่างๆในโลกจะรวมเป็นประเทศเดียวกันได้อย่างไร?




ตอบ
การรวมประเทศต่างๆในโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน อาจทำได้ดังนี้
๑.หัวหน้าของแต่ละประเทศต้องลดตัณหา มานะ และทิฏฐิ ยอมซึ่งกันและกัน แต่เป็นไปได้ยาก เพราะไม่ใช่พระอริยะบุคคล
๒. ประเทศที่เก่งกล้ากว่าในทุกๆด้านใช้อำนาจ ใช้กำลังบีบบังคับ



๑๑. พระพุทธเจ้าเคยตรัสเรื่องการปกครองไว้หรือไม่? อย่างไร??




ตอบ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องการปกครองไว้ว่า การปกครองระบบกษัตริย์ โดยกษัตริย์มีอำนาจเต็ม มีอำนาจสูงสุดในการบริหาร เป็นระบบแรกในโลก แต่กษัตริย์ต้องมี ราชธรรม ๑๐ ประการ คือ


๑. ทาน (ทานํ) คือ การให้ การสละทรัพย์สิ่งของบำรุงเลี้ยงช่วยเหลือประชาราษฎร์และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
๒. ศีล (สีลํ) คือ ความประพฤติดีงาม สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่สุจริต รักษาเกียรติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน
๓. บริจาค (ปริจฺจาคํ) คือ เสียสละความสุขสำราญ ตลอดจนชีวิตของตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
๔. ซื่อตรง (อาชฺชวํ) คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจไม่หลอกลวงประชาชน
๕. อ่อนโยน (มทฺทวํ) คือ มีอัธยาศัยไม่เย่อหยิ่งหยาบคาย กระด้าง ถือองค์ มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดีแต่มิขาดความยำเกรง
๖. ความเพียร (ตบะ) คือ ความเพียรเพื่อแผดเผากิเลสตัณหามิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิตใจ ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมหลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและการปรนเปรอ มีความเป็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ มุ่งแต่จะบำเพ็ญเพียรทำกิจให้บริบูรณ์
๗. ไม่โกรธ (อกฺโกธํ) คือ ไม่กริ้วกราด ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำการต่างๆผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตนเอง
๘. ไม่เบียดเบียน (อวิหึสา) คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใดผู้หนึ่งเพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง
๙. ความอดทน (ขนฺติ) คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายและใจเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ไม่หมดกำลัง ไม่ยอมละทิ้งกรณียะกิจที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม
๑๐. ตั้งมั่นในธรรม (อวิโรธนํ) คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือความเที่ยงธรรมก็ดี นิติธรรม คือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติให้คลาดเคลื่อนวิบัติไป

ถ้ากษัตริย์ถึงพร้อมด้วยด้วยราชธรรม ๑๐ ประการนี้ จะเป็นที่รักของราษฎรและจะดำรงราชวงศ์อยู่ได้นาน ถ้าไม่มีราชธรรม ๑๐ ประการนี้ จะไม่เป็นที่รักของราษฎรและดำรงราชวงศ์อยู่ได้ไม่นาน พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยบุญบารมี เป็นผู้มีพระราชอำนาจเต็ม ทรงมีแก้ว ๗ ประการ ทรงใช้จักรแก้ววิเศษนำพิชิตประเทศเล็กประเทศน้อยทั้งหลาย พระมหากษัตริย์ของประเทศเหล่านั้นยำเกรงในบุญฤทธิ์ของพระองค์ ต่างก็ยอมสวามิภักดิ์โดยดี พระเจ้าจักรพรรดิทรงให้โอวาทพระมหากษัตริย์ทั้งหลายให้รักษาศีล ๕ เป็นศาสนาเดียวกัน พระองค์ทรงชนะทั่วทั้งผืนปฐพี ครองโลกโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาวุธ ไม่ต้องประหัตประหาร โลกได้รับการปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความสงบสุขถึงที่สุด และเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิสวรรคตไป โลกก็แตกแยกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย กลับเข้าสู่ยุคเข็ญเหมือนเดิม


หน้าแรก ประวัติหลวงพ่อเกษตร I วัดเขาหินเทิน I ภาพกิจกรรมวัดเขาหินเทิน I ธรรมะโดยหลวงพ่อเกษตร I กระดานกระทู้ธรรม I ติดต่อกับเรา
Copyright © 2003 Wat Khaohinturn All rights reserved
Designed & Managed by : flmonline.net